คู่มือเอาตัวรอด (และก้าวหน้า) เมื่อเจอ Toxic Leadership และวัฒนธรรมองค์กรที่ล้าหลัง

เคยรู้สึกไม่มีใครสนใจรับฟังไอเดียของคุณไหม? เสนออะไรไปก็ถูกเมินเฉย เจ้านายคิดว่าตัวเองถูกเสมอ ไม่สนับสนุนความคิดริเริ่มใหม่ๆ

หากคำตอบของคุณคือ “ใช่” คุณอาจกำลังเผชิญกับวัฒนธรรมองกรค์ที่เน้นการรักษาสภาพเดิมมากกว่าพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายส่วนรวม อันเป็นปัญหาใหญ่ในหลายองค์กร 

งานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่าบรรยากาศการทำงานที่ดี มีความสุขและเกื้อหนุนการเติบโตของบุคคลากร ส่งผลดีต่อทั้งผลงานของเราและองค์โดยรวม แต่หากเราไม่ความสุขในที่ทำงาน รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า ย่อมบั่นทอนความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำงาน หรืออาจทำให้บางคนอาจตกอยู่ในภาวะ “หมดไฟ” ไปเลยก็ได้

บทความนี้จะช่วยให้คุณไม่เพียงแค่เอาตัวรอดจากภาวะอันตรายนี้ แต่ยังสามารถเจริญก้าวหน้าในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ท้าทาย โดยเจาะลึกถึง

  • บริบททางวัฒนธรรมที่มีผลต่อองค์กร
  • ที่มาของผู้นำที่เป็นพิษ
  • กลยุทธ์การอยู่รอดและก้าวหน้าในองค์กร
  • แนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

ก่อนที่จะพูดถึงกลยุทธ์การเอาตัวรอดในวัฒนธรรมองค์กรที่ล้าหลัง เราต้องพิจารณาตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก่อนว่าเรามีส่วนทำให้สถานการณ์แย่ลงหรือไม่

เป็นความจริงที่ว่าหลายองค์กรมีโครงสร้างที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยตั้งแต่ยุคศักดินา คนที่เข้ากับเจ้านายไม่ได้มักจะพลาดโอกาสในการเติบโต หลายคนจึงต้องประนีประนอม ถึงจะมีความสามารถและได้รับโอกาสเติบโต แต่หากเข้ากับระบบไม่ได้ก็อาจถูกกลั่นแกล้งและถูกเขี่ยทิ้งไป 

เราต้องเข้าใจว่าเราเปรียบเหมือนฟันเฟืองในเครื่องจักรขนาดใหญ่  หากคนส่วนใหญ่ในองค์กรเป็นฟันเฟืองที่หมุนช้า การทำงานของเครื่องจักรทั้งระบบก็จะช้า แต่หากเราหมุนเร็วเกินไปโดยคนอื่นไม่หมุนตาม เราก็จะสร้างความตึงเครียดในระบบและอาจถูกดีดออกไปในที่สุด ดังนั้นเราต้องหาจุดสมดุล หมุนไปทีละเล็กละน้อยและชวนให้คนอื่นหมุนเร็วขึ้นตามไปด้วย  เพื่อให้ระบบทั้งหมดทำงานอย่างสอดคล้องและราบรื่น 

ลองพิจารณาว่า

  • เราไม่ใช่คนที่ถูกมองว่า “หัวแข็ง” เราไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมขัดแย้งกับวิธีทำงานของเจ้านาย อย่าลืมว่าองค์กรไม่ได้มีอยู่เพื่อให้เราทำตามความต้องการของเราได้อย่างเต็มที่ แต่เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายขององค์กรและพัฒนาต่อไป 
  • เจ้านายที่เราเห็นว่าย่ำแย่ก็ยังได้รับความไว้วางใจ เขาได้รับตำแหน่งมาจากผู้บริหารที่สูงกว่าซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อองค์กร และหากเจ้านายของเราทำงานได้แย่จริงๆ เขาก็ย่อมอยู่ได้ไม่นาน เราเพียงแค่ต้องอดทนรอให้เขาจากไป

ขอให้เรามุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จขององค์กร บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าเราจะเติบโตได้เมื่อเรามีส่วนทำให้องค์กรเติบโตขึ้น ดังนั้นแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับเจ้านาย เราก็ยังต้องทำงานให้เต็มที่เพื่องานในส่วนที่เราทำมีประสิทธิภาพขับเคลื่อนองค์กรต่อไปได้ และควรยกผลงานให้เจ้านาย อีกทั้งละทิ้งความต้องการพิสูจน์ตัวเองหรือความต้องการเป็นที่ยอมรับในระดับบุคคล 

หากคุณพิจารณาดูแล้วว่าตัวคุณเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ได้เป็นคนนำความทุกข์เข้าหาตัวด้วยการมีความคาดหวังที่ไม่อาจเป็นไปได้ ก็ขอให้พยายามทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ท้าทาย และฝึกวิธีเอาตัวรอด 

ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการเคารพอาวุโสและบุคคลที่มีอำนาจ รวมถึงให้ความสำคัญกับการรักษาความปรองดองและหลีกเลี่ยงการโต้แย้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าทุกอย่างสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสขององค์กรอยู่ที่การรักษาสภาพเดิมมากกว่าพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน มันก็อาจยับยั้งความก้าวหน้า และอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น

  • ขาดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา จำกัดความคิดสร้างสรรค์และแนวทางที่ดีสุด
  • ขาดการมีส่วนร่วมของทีม ไม่มีใครอยากทำงานยาก เกิดการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ 
  • ไม่สนใจเป้าหมายส่วนรวม เน้นความสำเร็จส่วนบุคคลมากกว่าเป้าหมายขององค์กร
  • ขวัญกำลังใจตกต่ำ เกิดการกล่าวโทษผู้อื่นเมื่อทำผิดพลาด อันทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นพิษ

จริงอยู่ว่าการเคารพผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปค่านิยมทางสังคมและวิธีการทำงานย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักให้ความสำคัญกับความสามารถกว่าแค่เพียงอายุ องค์กรธุรกิจทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับทักษะ ความเชี่ยวชาญและผลงานในการเลื่อนตำแหน่งมากขึ้น ซึ่งเป็นการท้าทายระบบการเลื่อนขั้นตามอาวุโสแบบดั้งเดิม การเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างไม่ลืมหูลืมตาย่อมไม่ส่งผลดีต่อองค์กรอีกต่อไป วิธีที่เคยใช้ได้ผลในอดีตอาจใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบันที่โลกและสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเปิดรับความคิดริเริ่มใหม่ๆ การสื่อสารอย่างเคารพและการให้เกียรติซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ภาวะผู้ทำที่เป็นพิษ (Toxic Leadership) คือการมีพฤติกรรมและทัศนคติที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของบุคคลากร บรรยากาศในที่ทำงาน และองค์กรโดยรวม ผู้นำเหล่านี้มักให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองมากกว่าการพัฒนาองค์กรและบุคคลากร โดยยึดมั่นใน “อุดมคติแห่งตน” (Ego-Ideal) ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ตนเองใฝ่ฝันอยากจะเป็น สะท้อนความทะเยอทะยานของซึ่งได้รับการหล่อหลอมโดยค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรม ทำให้บุคคลนั้นให้ความสำคัญกับการรักษาอุดมคติตามที่ค่านิยมกระแสหลัก มักจะมุ่งเน้นการรักษาสถานทางสังคมหรือตำแหน่งอันเป็นที่น่านับถือ 

ผู้นำเหล่านี้มักจะกลัวที่จะยอมรับความผิด มองว่าการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ อาจเป็นภัยคุกคามต่อความเชื่อมั่นในตน หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง โยนความผิดให้คนอื่น และไม่ใส่ใจความรู้สึกของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยมองว่าคนเหล่านั้นเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายส่วนตัว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่องค์กรได้

ในกรณีคุณติดอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นพิษ คุณสามารถรับมือกับสถานการณ์โดยไม่ให้มันส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณมากกินไป และหาทางปกป้องตนเองโดย

  • เข้าใจตัวเอง พิจารณาว่าพฤติกรรมของเจ้านายส่งผลต่อคุณอย่างไร คุณรู้สึกไม่ได้รับฟังหรือไม่? รู้สึกหงุดหงิดจากการไม่ได้รับเครดิต? การรับรู้อารมณ์เหล่านี้จะช่วยให้คุณจัดการกับมันได้ดีขึ้น 
  • สื่อสารอย่างชาญฉลาด แทนที่จะท้าทายความคิดของเจ้านายโดยตรง ลองปรับการนำเสนอแนวคิดของคุณให้เป็นการต่อยอดความคิดของเขา 
  • หาเพื่อนร่วมงานเข้าใจ คุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อคลายความไม่สบายใจ ระดมความคิดและหาแนวทางที่เป็นไปได้ร่วมกัน
  • สร้างขอบเขต ฝึกปฏิเสธอย่างสุภาพแต่หนักแน่นเมื่อคุณได้รับมอบหมายภาระงานที่ไม่สมเหตุผล คุณอาจแนะนำทางเลือกอื่น เช่น การแบ่งงานหรือกำหนดกรอบเวลาที่เป็นไปได้มากขึ้น
  • บันทึกการสนทนาที่สำคัญ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์เมื่อสถานการณ์แล้วร้ายลง หรือเมื่อคุณต้องการอ้างอิงสิ่งที่ตกลงกันในอดีต

เมื่อคุณสามารถรับมือกับความท้ายขององค์กรได้ดีขึ้น คุณก็สามารถฝึกเปลี่ยนพลังงานลบรอบตัวเป็นแรงผลักดันเชิงบวกให้คุณก้าวหน้าต่อไปในทางที่คุณต้องการ ลงมือทำแทนที่การพร่ำบ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับการให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองและรักษาใจให้เป็นสุขโดย

  • โฟกัสที่ผลสำเร็จของงาน  ฉลองชัยชนะของคุณไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน เพื่อรักษาความพึงพอใจในอาชีพ 
  • สร้างเครือข่ายพันธมิตร เข้ารับการอบรมจากหน่วยงานภายนอก ติดต่อกับผู้คนในสายงานเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
  • เข้าใจเจ้านาย สังเกตการโต้ตอบระหว่างเจ้านายกับบุคคลอื่น ดูว่าเขาตอบสนองเชิงบวกต่อข้อมูลหรือเรื่องราวแบบใด เพื่อช่วยให้คุณปรับแต่งวิธีสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ทำให้เขาเข้าใจว่าคุณอยากช่วยให้เขาประสบความสำเร็จร่วมกัน
  • พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในสายงาน รวมทั้งติดตามข่าวสาร เพื่อจะให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว อยู่เหนือกระแสของวงการ 

นอกจากที่คุณจะก้าวหน้าบนเส้นทางของคุณได้แล้ว เราทุกคนยังมีโอกาสสร้างการเปลี่ยนเปลงที่จำเป็นและมีความหมาย โดยหลอมรวมค่านิยมใหม่ๆ เข้ากับค่านิยมที่มีอยู่เดิมในองค์กร ซึ่งต้องอาศัยความเป็นผู้นำในระดับบุคคลโดย

  • เป็นแบบอย่างที่ดี ปฏิบัติตัวตามสิ่งที่คุณเชื่อมั่น เป็นแบบอย่างของพฤติกรรมที่คุณต้องการเห็นในเพื่อนร่วมงาน 
  • เสนอแนะอย่างชาญฉลาด เสนอแนวทางการพัฒนาหรือแนวคิดใหม่โดยปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัฒนธรรมองค์กร อาจใช้ตัวอย่างกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากหน่วยงานอื่นหรือประเทศอื่น 
  • ประเมินสถานการณ์ เลือกสมรภูมิอย่างชาญฉลาด และผลักดันการเปลี่ยนแปลงในด้านที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ

อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา อดทนและมุ่งมั่นในเส้นทางของคุณ โดยโฟกัสที่การพัฒนาตนเอง สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ให้การสนับสนุน และค่อยๆ สอดแทรกวัฒนธรรมใหม่อย่างชาญฉลาด รักษาใจให้เป็นบวกและเข้มแข็งอยู่เสมอ อันจะช่วยทำให้คุณส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสร้างประโยชน์ให้ทั้งตัวคุณเองและเพื่อนร่วมงานได้ไม่มากก็น้อย

ขอเป็นกำลังใจให้คนดี คนเก่ง